ข่าวประชาสัมพันธ์
"จาตุรนต์" สั่งห้าม! ทุกโรงเรียน ต้องไม่มี "เด็ก ป.3 และ ป.6 ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้"
เด็ก ป.3 และ ป.6 ทุกคน "อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ต้องไม่มี"
22 สิงหาคม 2556 - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้หารือกับ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร สพฐ. ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งครูภาษาไทยที่ประสบความสำเร็จในการสอนภาษาไทย เกี่ยวกับปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านและวิชาภาษาไทย ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

รมว.ศธ. แถลงผลการหารือในครั้งนี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดให้มีโครงการเร่งด่วนในการพัฒนาคุณภาพการอ่านได้และสื่อสารได้อย่างเป็นระบบต่อไป โดยจะมีการประกาศนโยบายนี้อย่างเป็นทางการในต้นเดือนกันยายน 2556 เพื่อช่วยตอบปัญหาที่สังคมห่วงใย และแก้ปัญหาเด็กในวัยเรียนซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในสภาพที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อ่านไม่เข้าใจ


โดยจะมีการสแกนนักเรียนในสังกัด สพฐ. เริ่มจากนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ทุกคนทั่วประเทศ ก่อนปิดภาคเรียน  เพื่อให้รับทราบถึงสภาพปัญหาการอ่าน การเขียน โดยจะมีแบบทดสอบ เครื่องมือตรวจสอบคัดกรอง การจัดทำคู่มือปฏิทินการดำเนินการอย่างเป็นระบบตามหลักวิทยาศาสตร์ เช่น แบบอ่าน เครื่องมืออ่านและการวินิจฉัย เพื่อให้เห็นปัญหาทั้งระบบ

 ส่วนนักเรียนในระดับชั้นอื่น เช่น ป.2 ป.4 ป.5 ก็จะมีแบบคัดกรองที่จะไปประเมินขั้นต้น เพื่อสำรวจเด็กที่มีความสามารถในการอ่านอ่อนมากๆ และมีปัญหาต่อการเรียนวิชาอื่นๆ โดยจะเตรียมองค์ความรู้ เทคนิค วิธีการในการดูแลเด็กที่มีปัญหาการอ่าน การเขียน

โดยคาดว่าหลังจากประกาศนโยบายแล้ว สพฐ.จะจัดเตรียมเครื่องมือ และอบรมพัฒนาครูภาษาไทย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการโดยใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นจากครู การจัดเสวนารับฟังแนวทางเทคนิควิธีการสอนภาษาไทยที่ได้ผล หรือนำนวัตกรรมการสอนที่ได้ผลจากโรงเรียนต่างๆ นำมาใช้เป็นโครงการเร่งด่วน หวังผลให้เกิดขึ้นในปีการศึกษาต่อไป ซึ่งมีหลายวิธี เช่น สอนพิเศษ จัดห้องเรียนใหม่ที่มีการนำเด็กที่มีปัญหาความต้องการอย่างเข้มข้นมาเรียนด้วยกัน และวิธีการอื่นๆ ที่ค่อนข้างหลากหลาย หรือการให้เด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย มาเรียนวิชาภาษาไทยอย่างเดียว 1 ภาคเรียน หรือเรียนวิชาอื่นน้อยลงในเทอมนั้นๆ เพื่อให้เก่งแบบดีขึ้นผิดหูผิดตา แล้วจึงกลับไปเรียนวิชาอื่นๆ เพราะหากเด็กยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็ยากที่จะเรียนวิชาอื่นให้รู้เรื่องได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ แนวคิดในการดำเนินการ คือ สำรวจปัญหาให้ชัดเจน ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียน จัดการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น และมีการประเมินผลและสรุปบทเรียน เพื่อวางแผนดูแลความสามารถทางด้านภาษา และแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ตัวชี้วัด และเป้าหมาย สพฐ.จะนำไปกำหนดก่อนที่จะประกาศโครงการและดำเนินการในเรื่องนี้ พร้อมทั้งจะให้มีข้อตกลงกับเขตพื้นที่การศึกษาในการทำงานอย่างเป็นระบบ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะเน้นให้เด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ป.3 และ ป.6 ทุกคน "อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ต้องไม่มี"

โพสเมื่อ : 22 ส.ค. 2556,21:26   อ่าน 8467 ครั้ง