ส่อแววโละหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
|
วันนี้(26 มี.ค.) รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯที่มีศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า มีแนวโน้มที่จะยกเลิกหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่มี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มาเป็นหลักสูตรใหม่โดยเหลือ 6 กลุ่มสาระ ได้แก่ 1.ภาษาและวัฒนธรรม(Language and Culture) 2.กลุ่มสาระวิชาSTEM คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ 3.การดำรงชีวิตและโลกของงาน(Work Life) 4.ทักษะสื่อและการสื่อสาร(Media Skill and Communication) 5.สังคมและและมนุษยศาสตร์(Society and Humanity) และ 6.อาเซียน ภูมิภาคและโลก(Asean Region and World)
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า หลักสูตรใหม่ดังกล่าวเป็นหลักสูตรที่มีความครอบคลุมสาระวิชาที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในแต่ละระดับชั้น ซึ่งคณะกรรมการได้ศึกษาตัวอย่างโครงสร้างหลักสูตรของต่างประเทศไม่น้อยกว่า 12 ประเทศ อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ ฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น มาประกอบกับเนื้อหาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าหลักสูตรของเรายังมีจุดอ่อนอยู่มาก เช่น เราให้เด็กเรียนถึง 8 กลุ่มสาระ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เรียนเพียง 3-4 กลุ่มสาระแล้วค่อย ๆ เติมเนื้อหาสาระที่จำเป็นเข้าไป และในแต่ละปีเด็กไทยจะมีชั่วโมงเรียนมากกว่า 1,000 ชั่วโมง ขณะที่ประเทศอื่นเรียนไม่เกิน 800 ชั่วโมง เป็นต้น ดังนั้นหลักสูตรใหม่ที่จะมีการปรับปรุงนอกจากลดจำนวนกลุ่มสาระการเรียนรู้แล้วจะมีการลดชั่วโมงเรียนลงด้วย แต่จะเพิ่มโครงงาน หรือการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนแทน เพื่อให้เด็กได้ฝึกการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้
“หลังจากที่คณะกรรมการได้ประชุมมา 3 ครั้งโดยมีตัวแทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งนักวิขาการ ครู และนักเรียน ร่วมประชุมทำให้ได้ข้อสรุปดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้คณะทำงานของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ใหม่ทั้ง 6 กลุ่มจะต้องไปวางแนวทางและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละระดับอีกครั้ง โดยคาดว่าในอีก 6 เดือนพิมพ์เขียวจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)นำไปประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นอย่างรอบด้านต่อไป”รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า การปฏิรูปหลักสูตรครั้งนี้เป็นผลมาจากแนวคิดของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ที่ระบุว่าการปฏิรูปจะเดินหน้าได้ต้องเริ่มที่การปฏิรูปหลักสูตรก่อน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ โดยการปฏิรูปหลักสูตรใหม่นี้มีความคาดหวังว่าจะเด็กไทยในอนาคตจะมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ มีความเป็นไทยสามารถแสดงออกแบบสากลได้ รักการทำงาน เรียนแล้วมีงานทำมองเห็นอนาคตของตัวเอง เคารพรากคุณค่าและรากเหง้าของสังคมไทย ที่สำคัญเป็นการปลดทุกข์ของเด็กโดยเฉพาะเรื่องความเครียดและการแข่งขันเพราะจะมีเวลาให้เด็กได้ทำกิจกรรมมากขึ้น
ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ |
โพสเมื่อ :
01 เม.ย. 2556,21:02
อ่าน 8790 ครั้ง
|