ข่าวประชาสัมพันธ์
ชำแหละ..อาณาจักรหมื่นล้าน ฉบับ..พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย "เหนื่อยใจ...แต่ก็ต้องทำ"
- การสะสางปัญหา สกสค.ตั้งแต่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว?
"ได้ยินมาตลอดว่ามีกลุ่มคนที่แสวงหาประโยชน์จาก สกสค.และ อค. เพราะมีเงินจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกองทุนโครงการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และได้ตั้งกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ขึ้น ซึ่งมีเงินค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาผู้บริหารของ สกสค.มีอำนาจออกระเบียบใหม่เพื่อรองรับการดำเนินการต่างๆ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สกสค.และนำเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษไปลงทุนกับบริษัทเอกชน แต่ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะการดำเนินการของกลุ่มคนเหล่านี้ใช้ระเบียบ กฎหมายมาเป็นเกราะป้องกันพอสมควร การจะแก้ปัญหานี้ จึงต้องใช้อำนาจพิเศษเพื่อจะเข้ามาเคลียร์ 

อย่างแรกเคลียร์คน เพื่อเข้าไปดูปัญหาต่างๆ เมื่อเข้าไปดูแล้วจะเห็นว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังค่อนข้างมาก อาทิ การนำเงิน 2,500 ล้านบาทไปลงทุนกับบริษัทบิลเลี่ยนฯ และเป็นการดำเนินการที่ไม่ค่อยปกติ ยิ่งเมื่อดูรายละเอียดลึกลงไปยิ่งพบพิรุธ การซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน แล้วบริษัทบิลเลี่ยนฯก็ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ไม่ทำอาวัลกับธนาคาร ซึ่งตอนนั้นคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษ ซึ่งประธานในขณะนั้นพยายามโน้มน้าวคณะกรรมการว่ามีผลตอบแทนสูง ได้ดอกเบี้ยถึงร้อยละ 7 มากกว่าการนำเงินไปลงทุนในธนาคาร คณะกรรมการจึงเห็นชอบซื้อตั๋วสัญญาอีก 2,100 ล้านบาท และให้บริษัทบิลเลี่ยนฯไปทำการอาวัล แต่ปรากฏว่าไม่มีการอาวัล ช่วงเวลานั้น บริษัทบิลเลี่ยนฯจึงสร้างความมั่นใจให้กับคณะกรรมการโดยนำหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ทั้งโฉนดที่ดิน อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ดราฟต์ธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ (HSBC) เช็คธนาคารแลนด์แอนเฮ้าส์ ใบหุ้นฟุตบอลสโมสรเรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ และเงินสกุลดีนาร์ ประเทศโครเอเชีย

ช่วงเวลานั้นครบกำหนดการคืนเงินล็อตแรก 500 ล้านบาท บริษัทบิลเลี่ยนฯนำเงินมาคืน ขณะที่ล็อตที่สองยังไม่ครบกำหนด และยังไม่มีการอาวัล บริษัทบิลเลี่ยนฯมาขอกู้อีก 400 ล้านบาท คณะกรรมการอนุมัติเพราะเชื่อใจ โดยทั้งหมดครบกำหนดวันที่ 28 ธันวาคม 2557 ซึ่งสุดท้ายทั้งงวดที่สองและสามไม่ได้อาวัล แต่นำหลักทรัพย์ทั้งหมดมาวางค้ำประกันเพื่อสร้างความมั่นใจ เพราะถ้าดูมูลค่าของทรัพย์สินที่นำมาวาง ถ้ามีมูลค่าจริงจะมากถึง 12,500 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าจำนวนเงินที่กู้ไปเกือบถึง 5 เท่า สุดท้ายครบกำหนดก็ไม่ได้ชำระเงินคืน และขอต่อเวลาถึงต้นปี 2558"

- การดำเนินการกับกลุ่มคนที่มีแนวโน้มทุจริต?

"หลังตรวจสอบพบว่าหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ที่บริษัทบิลเลี่ยนฯนำมาค้ำประกันเป็นของปลอม ได้ตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องทันที อันดับแรกที่ทำทันทีที่ คสช.มีคำสั่ง คือให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบ พร้อมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อดูพฤติกรรมแล้วพบว่าน่าจะไม่โปร่งใส ทาง ปปง.และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จึงเข้ามาตรวจสอบ ส่วน ศธ.ในฐานะที่เป็นเจ้าของเงิน ได้ติดตามทวงถาม แต่ไม่มีการตอบรับจากบริษัทบิลเลี่ยนฯ ส่วนดอกเบี้ยร้อยละ 7 เป็นเงินประมาณ 130 ล้านบาท ขณะเดียวกันนำหลักฐานเอกสารต่างๆ ไปแจ้งความไว้ที่ สน.ดุสิตเพื่อดำเนินการทางอาญา โดยเฉพาะการนำเอกสารปลอมมาค้ำประกันการซื้อตั๋วสัญญา ขณะเดียวกัน ปปง.ได้อายัดทรัพย์ ทั้งบริษัทบิลเลี่ยนฯและผู้บริหาร สกสค.รวม 19 คน 115 รายการ ส่วนใหญ่เป็นเงินในบัญชีธนาคาร เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนสิงหาคมนี้ และอยู่ระหว่างสอบสวนรายละเอียด 

การติดตามเรื่องนี้ต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามาร่วมดำเนินการตรวจสอบด้วยนั้น เพราะ ศธ.ไม่มีอำนาจ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ แต่เป็นเจ้าของเงิน เมื่อต้องการเงินคืนก็ต้องทวง"

- ต้นตอหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดการทุจริตใน สกสค.?

"ปัญหาหลักจริงๆ คือคน มีหลายเรื่องที่ออกระเบียบเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง มีบุคคลเข้ามาแสวงหาประโยชน์ก็ไปออกระเบียบลูก โดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สกสค.ซึ่งขณะนี้ได้ยกเลิกระเบียบย่อยที่ไม่ถูกต้องไปแล้ว และจะทำในลักษณะการออกข้อบังคับ สกสค.โดยต่อไปการออกระเบียบอะไรก็ตาม จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สกสค.ก่อน แต่ที่ผ่านมา อย่างที่ทราบมีความพยายามนำกลุ่มคนที่เป็นพวกเดียวกัน เข้ามาเป็นคณะกรรมการ สกสค. ดังนั้นเวลาออกเสียงลงคะแนนหรือมีความเห็นอะไรก็ว่าตามกันไปหมด คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ก็เป็นเสียงน้อย จนเท่าที่ทราบหลังๆ ผู้ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งเริ่มไม่เข้าประชุม เพราะจะไปทัดทานอะไรก็สู้ไม่ได้ ถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็ต้องเลือกคนที่ซื่อสัตย์ โปร่งใส เข้าไปทำงาน"

- ปัญหาความไม่โปร่งใสในองค์การค้าฯ?

"หลัง คตร.เข้าไปตรวจสอบองค์การค้าฯ มีรายงานและข้อเสนอมายัง ศธ.ครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์การค้าฯยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร มีค่าใช้จ่ายสูงและการทำงานเกิดปัญหา โดยมีข้อเสนอว่าควรพิจารณาความจำเป็นว่าควรมีองค์การค้าฯต่อไปหรือไม่ หรือจะให้คงอยู่ไว้เพียงบางส่วน ยอมรับว่ามีการพิจารณาประเด็นนี้ เพราะองค์การค้าฯมีหนี้สินจำนวนมาก เฉพาะหนี้สินที่มีกับบุคลากรภายในเองก็หลายร้อยล้านบาท หนี้สินภายนอกอีกหลายพันล้านบาท เท่ากับว่าที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้เหมือนทำงานใช้หนี้ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเป็นโรงพิมพ์เอกชนคงไม่ทำต่อแล้ว จึงต้องมาพิจารณาว่าจะปรับโครงสร้างอย่างไร แต่ยังไม่อยากฟันธงว่ายุบหรือไม่ยุบ ล่าสุดขอให้จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัยเข้ามาช่วยศึกษาข้อมูลว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะต้องคิดว่าถ้ายุบองค์การค้าฯจะมีผลกระทบอะไรกับวงการศึกษาหรือไม่"

- ปัญหาของคุรุสภา?

"ถ้าเทียบใน 3 หน่วยงาน คุรุสภามีเรื่องผลประโยชน์เข้าไปเกี่ยวข้องไม่มากนัก แต่ก็เห็นได้ว่าคุรุสภาจะมีลักษณะเดียวกับคณะกรรมการ สกสค.ที่ดึงพวกพ้องเข้าไปร่วม เวลามีมติออกมาก็อาจจะเพี้ยน หรือไปสร้างภาระ เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ กีดกันคนที่มีความรู้ในสาขาที่ขาดแคลนไม่ให้เข้ามาเป็นครูได้ง่ายๆ ทั้งที่บางเรื่องอาจไม่จำเป็น และน่าจะลดหย่อน หรือผ่อนคลายได้ ตรงนี้เป็นอุปสรรคต่อระบบการศึกษา"

- ถึงเวลาต้องยกเครื่อง สกสค., องค์การค้าฯ และคุรุสภา?

"ถูกต้อง ทั้ง 3 หน่วยงานควรจะปรับระบบการทำงานให้กระชับ กะทัดรัด และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐ ตอบสนองความจำเป็นด้านการศึกษา" 

- ทำไมถึงเริ่มต้นสะสางปัญหาทุจริตใน 3 หน่วยงานนี้ก่อน?

"เรื่องที่ได้ยินคนใน ศธ.บ่นให้ฟังเสมอคือปัญหาการทำงานของทั้ง 3 หน่วยงานนี้ว่ามีสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และดูไม่โปร่งใส รวมถึงการร้องเรียนปัญหาการทุจริตใน สกสค. การนำเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย พาคนไปเที่ยวต่างประเทศ ครั้งละ 30-40 คน ขนาดผมนั่งอยู่จะพาคนเป็นร้อยคนไปยุโรป ใช้เงินหลายสิบล้านบาทในครั้งเดียวโดยไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเป็นแบบนักการเมืองก็เหมือนการซื้อเสียง จะเห็นว่าความไม่ถูกต้องมีมาตลอด ใครแตะอะไรไม่ได้ เขามีกฎหมายของเขา ซึ่งผมก็ตัดสินใจแก้ปัญหาและไม่ได้หารือใคร เพราะเป็นเรื่องใน ศธ. แต่ก็ดูตามข้อมูล ดูเรื่องร้องเรียนที่เข้ามา จึงคิดว่าน่าจะถึงเวลา ปล่อยไว้อย่างนี้ก็ไม่ไหว"

- เหนื่อยหรือไม่กับแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสที่หมักหมมมานาน?

"เหนื่อยใจ คิดว่าทำไมคนที่คิดจะโกง ก็พยายามทำ ทั้งที่ก็ย้ำก็เตือน โดยเฉพาะระดับผู้บริหารซึ่งเห็นหน้าเห็นตากัน ไม่อยากจะไปตั้งกรรมการสอบสวนใคร แทนที่จะเอาเวลาไปทำงานอย่างอื่น ต้องมานั่งอ่านเอกสาร ซึ่งไม่ใช่เรื่อง แต่ก็ต้องทำ ไม่ทำก็ไม่ได้ เมื่อมารับผิดชอบแล้ว ก็ต้องดูแล ไม่อยากให้เกิดปัญหาการทุจริตขึ้น"

- นโยบายปราบทุจริตภายใน ศธ.เป็นอย่างไร?

"ศธ.ได้รับงบประมาณค่อนข้างมาก และมักมีข้อร้องเรียนว่าทุจริตในหลายเรื่อง ซึ่งในภาพรวมตั้งแต่ระดับนโยบายรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสในการทำงานมาตลอด ในการประชุมผู้บริหาร ศธ.แต่ละครั้งพยายามเน้นย้ำเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณว่าต้องไม่ให้มีทุจริตเกิดขึ้นในทุกเรื่อง รวมถึงการใช้งบประมาณจัดอีเวนต์ต่างๆ ที่ไม่คุ้มค่า"

-
 เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กับ รมว.ศธ.อะไรง่ายกว่ากัน?

"ที่ ศธ.ยากกว่า เป็น ผบ.ทร.ลูกน้องมีระเบียบวินัย และไม่มีปัญหานำงบประมาณไปใช้ไม่คุ้มค่า เพิ่งมาเจอที่นี่ ทร.จะใช้งบประมาณ 1-2 ล้านบาท คิดแล้วคิดอีก เป็นเรื่องยากเย็นมาก แต่ที่นี่อนุมัติกันสิบยี่สิบล้านบาท ร้อยล้านบาท ง่ายนิดเดียว ที่สำคัญในกองทัพไม่มีการเมือง ที่จับคนนี้มาอยู่ตรงนั้น เพื่อหวังผล"

- กระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มี ศธ.ติดอยู่ในโผด้วย?

"ยังไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องนี้เลย ยังไม่พูดคุยอะไร นายกฯให้มาทำตรงนี้ ก็ทำเต็มที่"

 

 


ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน
โพสเมื่อ : 09 ส.ค. 2558,16:52   อ่าน 8906 ครั้ง